ชวนคุณมา ฟิตสมอง ก่อนจะสาย (ชีวจิต)
การขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย การสูบบุหรี่ การรับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม และการรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ก็ล้วนเร่งให้เกิดความเสื่อมของการทำงานในร่างกาย จิตใจ รวมถึงสมองให้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูชีวจิต ได้อธิบายว่า ความเครียด และวิตกกังวลของคนเรานั้น จะยิ่งทำให้ความดันโลหิต การขยายตัวของหลอดเลือด และหัวใจทำงานผิดปกติ และเมื่อกลไกในร่างกายเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ก็จะส่งผลต่อการทำงานของสมองด้วย
“อาการความเสื่อมถอยของสมองยังเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ “นอกจากการดำเนินชีวิตแบบผิดๆ ที่กล่าวมา การใช้สารเสพติดประเภทกาว หรือ การดื่มแอลกอฮอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ การขาดฮอร์โมนบางตัว เช่น ไทรอยด์ รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ซ้ำซากจำเจ หรือทำงานที่ไม่ค่อยได้ใช้ความคิด และไม่มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็ทำให้มีโอกาสสมองเสื่อมได้ค่ะ”
ดูแลสมองก่อนสาย
วันนี้เราเลือกวิธีการฟิตสมองแบบใหม่ๆ ที่ง่าย และทำได้เองมาแนะนำ 3 วิธีค่ะ
1. นิวโรบิคส์ (Neurobics Exercise) : ออกกำลังสมอง
นิวโรบิคส์ เอ็กเซอร์ไซส์ หรือการออกกำลังสมอง เปรียบเทียบได้กับการออกกำลังของร่างกาย ที่จะต้องเคลื่อนไหวเพื่อใช้กล้ามเนื้อหลายๆ ส่วนให้ทำงานเชื่อมโยงกัน ทำให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น ดังนั้น การออกกำลังสมองจึงเป็นการฝึกให้สมองส่วนต่างๆ มีการทำงานที่ประสานสัมพันธ์กัน ทำให้ระบบการทำงานของสมองแข็งแรงและมีพลังขึ้น เพราะเมื่อเราฝึกออกกำลังสมองบ่อยๆ สมองจะมีการหลั่งสารที่เรียกว่า นิวโรโทรฟินส์ (Neurotrophins) ที่เปรียบเหมือน “อาหารสมอง” ที่ทำให้เซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ “เดนไดรท์” (Dendrites) ที่เชื่อมระหว่างเซลล์ประสาท ทำให้ทำงานดีขึ้น จึงเป็นปัจจัย (Factor) ที่ทำให้เนื้อเซลล์เจริญเติบโต และเซลล์สมองแข็งแรง
เมื่อเซลล์สมองส่วนใหญ่แข็งแรง ก็จะทำให้เกิด “พุทธิปัญญา” (Cognitive Function) ที่หมายถึงความจำ สมาธิ การรับรู้ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการแสดงออก รวมไปถึง “การทำงานของสมองระดับสูง” (Executive Function) คือ การคิด แก้ปัญหา การตัดสินใจ และการวางแผนที่ดีขึ้นทำให้การทำงานของสมองยังคงประสิทธิภาพดี แข็งแรง และชะลอความเสื่อม
นิวโรบิคส์ ทำงานอย่างไร
สำหรับหลักการของ การออกกำลังสมอง เกิดจากการกระตุ้นให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Sensory Organs) อันได้แก่ การได้ยิน การมองเห็น การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัส รวมไปถึง ส่วนสำคัญส่วนที่ 6 คือ ส่วนของ “อารมณ์” (Emotional Sense) ได้ทำงานเชื่อมโยงกัน โดยใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวันเดิมของเราเป็นตัวช่วย เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการไปจากเดิม
“ยกตัวอย่างเช่น จากที่เคยชินกับการใช้มือขวาซึ่งเป็นข้างที่ถนัดหยิบจับทุกอย่าง ก็เปลี่ยนมาใช้มือซ้ายทำแทน เนื่องจากพฤติกรรม และการรับรู้ต่างๆ เกิดจากการทำงานประสานกันระหว่างสมองส่วนซ้ายและขวา ถ้าเราใช้แต่มือข้างขวาทำทุกอย่าง สมองด้านซ้ายซึ่งบังคับมือขวาจะได้รับการกระตุ้นด้านเดียว แต่สมองส่วนขวา ซึ่งบังคับมือซ้ายก็จะไม่ค่อยได้ทำงานและอาจจะเสื่อมไป ดังนั้น เมื่อเราฝึกทำกิจกรรมต่างๆ จากมือซ้าย ก็ช่วยให้สมองส่วนขวาได้รับการกระตุ้น และทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย”
กิจกรรมที่ช่วยออกกำลังสมองนั้นจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษคือ ต้องเกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสอย่างน้อย 1 อย่าง รวมทั้งต้องดึงดูดความสนใจให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ และเป็นการเปลี่ยนกิจวัตรธรรมดาให้กลายเป็นกิจกรรมที่คาดไม่ถึง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ในสามประการนี้
2. การบริหารสมอง (Memory Training)
สำหรับวิธีการบริหารสมองสามารถช่วยในเรื่องการฝึกการทักษะการคิด ประมวลผล และการเชื่อมโยงการทำงานของร่างกาย การมองเห็น และประสาทสัมผัสต่างๆ โดยใช้ใช้เกม หรือกิจกรรมต่างๆ มาเป็นตัวช่วย ซึ่งถือเป็นการฝึกสมองที่ดีอีกวิธีหนึ่ง แบ่งเป็นวิธีการง่ายๆ ได้ดังนี้
การเล่นเกมฝึกสมองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คำถามอะไรเอ่ย ปริศนาอักษรไขว้ เกมเรียงคำในภาษาอังกฤษ (Cross Word) เล่นไพ่ หรือ ซุโดกุ (Sudoku) ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้
ทำกิจกรรมส่งเสริมความคิดต่างๆ เช่น การเขียนจดหมาย การเรียนพิมพ์ดีดแบบสัมผัส การเรียนภาษาใหม่ ฟังเพลงแนวใหม่ ดูภาพยนตร์ หรือสารคดีที่ไม่เคยดู กิจกรรมเหล่านี้ก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้เช่นเดียวกัน แต่เริ่มจากความสนใจ และความชอบเป็นอันดับแรก
3. ดนตรีบำบัด
“การใช้ดนตรีบำบัดแบบที่ทำอยู่นี้ ส่วนใหญ่ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactive) อายุระหว่าง 30-50 ปี หลักการคือ เมื่อปลายนิ้วมือทั้งสิบของคนเรามีเส้นประสาทอยู่จำนวนมหาศาล สังเกตง่ายๆ จากเมื่อเราเล่นเปียโนครั้งแรกจะไม่ได้ยินเสียงเปียโนเลย เพราะประสาทนิ้วกำลังทำงานอยู่ ดังนั้น เมื่อเราให้ผู้ป่วยฝึกเปียโนไปนานๆ ก็จะทำให้ระบบประสาททำงานประสานกัน และส่งผลต่อการทำงานของสมองด้วย เห็นได้จากผู้ป่วยที่เคยอยู่ไม่นิ่ง แยกตัว และไม่ยอมเข้าสังคม หลังจากฝึกไปแล้ว เขาจะนิ่งขึ้น และเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ที่สำคัญคือไม่เครียด ทุกวันนี้เราเลยประยุกต์เทคนิคนี้มาใช้กับพนักงานโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยครับ”
สารพัดวิธีเสริมความแข็งแรงให้สมอง
อาหารดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
เราควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง อันได้แก่ ผัก ผลไม้ และธัญพืช มะเขือเทศ แคนตาลูป ผักใบเขียว ต่างๆ ที่มีสารแอนติออกซิแดนซ์ (Antioxidant) กับวิตามินบี และอี ที่จำเป็นต่อสมอง นอกจากนี้ต้อง หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำร้ายสมอง ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทที่ไขมันสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันส่งผลให้สมองเสื่อม
ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทหวานจัด มีน้ำตาลสูง เพราะระดับน้ำตาลที่ปรับตัวขึ้นๆ ลงๆ อยู่เสมอ จะทำให้เซลล์สมองในส่วนของ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งไวต่อการปรับระดับการเผาผลาญพลังงานในร่างกายทำงานเสื่อมลงได้
การออกกำลังร่างกายจำเป็นเสมอ
นอกจากการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ยังช่วยให้ กระบวนการเผาผลาญพลังงาน (Metabolism) ทำงานเป็นปกติ ป้องกันปัจจัยเสี่ยง และโอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมให้น้อยลงแล้ว การเล่นกีฬาบางประเภท ก็ช่วยกระตุ้นสมองได้ โดยยึดหลักเดียวกับ นิวโรบิคส์ นั่นคือ การประสานการทำงานของประสาทสัมผัสเข้าด้วยกัน เช่น การเล่นปิงปอง ที่กระตุ้นให้ประสาทสัมผัส (มือ) การมองเห็น (ตา) ทำงานประสานกัน รวมทั้งใช้สมองในการกะระยะด้วย
พักผ่อนให้เพียงพอ
เรื่องการพักผ่อนมองข้ามไม่ได้ เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายเสียสมดุล เกิดเป็นความเครียด ซึ่งจะทำให้เกิดความจำไม่ดี และการฝ่อของสมอง (Neural Degeneration) ได้
ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อจะได้ทราบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น และรักษาได้ทันเวลา เพราะป้องกันสำคัญกว่าแก้ไข
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://www.cheewajit.com/articleView.aspx?cateId=1&articleId=173
เพื่อการแสดงผลหน้าเว็ป SPVARIETY ที่ถูกต้องท่านควรใช้ IE8 Firefox & Google Chrome
Download Browsing Click Here
This page is optimized for IE8 Firefox & Google Chrome
Download Browsing Click Here
เขียนโดย sp ที่ 05:01
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น