ข้อมูลไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (สำนักจัดการความรู้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)
1. หากเรามีอาการป่วยสงสัยจะเป็นไข้หวัดใหญ่ เราควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหรือไม่?
ตอบ
หากเรามีอาการป่วยสงสัยจะเป็นไข้หวัดใหญ่ให้ตรวจสอบว่าเราจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ นั่นคือ เราเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ หอบหืด เป็นต้น
* ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น * หญิงตั้งครรภ์ * ผู้ที่เป็นโรคอ้วน * กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี * เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี เราเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่โรคจะรุนแรง เราควรรีบไปพบแพทย์
หากเราไม่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เรายังไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ในทันที เราสามารถพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ รับประทานยาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ ก็ให้รับประทานยาพาราเซตตามอล และเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือถ้ามีอาการไอมาก ก็ให้ดื่มน้ำมากๆ เป็นต้น หากไข้ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน หรือเริ่มมีอาการที่บ่งว่าจะมีอาการรุนแรง (เช่น ผู้ป่วยที่หายใจเร็ว (อายุน้อยกว่า 2 เดือน หายใจเร็วกว่า 60 ครั้งต่อนาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจเร็วกว่า 50 ครั้งต่อนาที อายุ 1-5 ปีหายใจเร็วกว่า 40 ครั้งต่อนาที อายุมากกว่า 5 ปีหายใจเร็วกว่า 30 ครั้งต่อนาที) ไข้ไม่ลดใน 3 วัน อาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ได้ เป็นต้น) จึงควรไปพบแพทย์
หากเราไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจากการป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ การไปพบแพทย์จะทำให้เราเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อจากผู้ป่วยอื่นที่โรงพยาบาล และยังไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากแพทย์ก็จะแนะนำให้เรากลับมาพักฟื้นที่บ้าน ให้ยารักษาตามอาการ และแนะนำให้เราคอยเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของอาการของโรคอยู่ดี
2. เราจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสหรือไม่?
ตอบ
เนื่องจากผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส กระทรวงสาธารณสุข จึงไม่ได้แนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่สงสัยจะป่วย ด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 การให้ยาอย่างกว้างขวางในผู้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับยา นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแล้ว ยังอาจจะทำให้เชื้อดื้อยาได้เร็วขึ้นอีกด้วย
กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา ได้แก่
1. ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่โรคจะรุนแรง ได้แก่ * ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ หอบหืด เป็นต้น * ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น * หญิงตั้งครรภ์ * ผู้ที่เป็นโรคอ้วน * กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี * เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี 2. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (เช่น ผู้ป่วยที่หายใจเร็ว (อายุน้อยกว่า 2 เดือน หายใจเร็วกว่า 60 ครั้งต่อนาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจเร็วกว่า 50 ครั้งต่อนาที อายุ 1-5 ปีหายใจเร็วกว่า 40 ครั้งต่อนาที อายุมากกว่า 5 ปีหายใจเร็วกว่า 30 ครั้งต่อนาที) หายใจลำบาก เหนื่อย หอบ อาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ได้ เป็นต้น 3. ผู้ป่วยที่อาการไข้หรืออาการป่วยไม่ดีขึ้นใน 3 วัน
3. หากเราป่วยด้วยอาการที่คล้ายไข้หวัดใหญ่ เราจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพื่อยืนยันเชื้อหรือไม่?
ตอบ
ในปัจจุบันที่เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 ได้ระบาดขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ การตรวจว่าเราติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 หรือไม่มีความจำเป็นน้อยลงมาก การตรวจหรือไม่ตรวจไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนั้น ในปัจจุบันในพื้นที่ที่มีการยืนยันการแพร่ระบาดของโรคชัดเจนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันการติดเชื้อก่อนให้การรักษาแต่อย่างใด
4. ในปัจจุบัน ได้มีโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ได้แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจคัดกรองการติดเชื้อ ด้วยชุดการตรวจสอบการติดเชื้อที่ให้ผลเร็ว หากเราป่วยด้วยอาการที่คล้ายไข้หวัดใหญ่ เราควรตรวจด้วยชุดทดสอบให้ผลเร็วเหล่านี้หรือไม่
ตอบ
ไม่จำเป็น การตรวจหรือไม่ตรวจไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย นั่นคือ ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร แนวทางการรักษาก็ยังคงเป็นเช่นเดิม (เหมือนข้อ 1)
นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นแล้ว การตรวจดังกล่าวยังไม่ถือเป็นวิธีที่มาตรฐาน กล่าวคือ การตรวจยังมีความผิดพลาดค่อนข้างสูง นั่นคือ หากมีผู้ป่วยที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 จริง 100 คน การตรวจด้วยชุดทดสอบให้ผลเร็วจะให้ผลบวกถูกต้องน้อยกว่า 50 คน นั่นคือ ชุดทดสอบจะบอกว่าผู้ป่วยไม่ติดเชื้อสูงถึงกว่า 50 คนทั้งที่ผู้ป่วยติดเชื้อ การให้ผลผิดพลาดที่สูงมากขนาดนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยที่ป่วยจริงเมื่อทราบผลว่าตัวเองไม่ติดเชื้อวางใจ ไม่ดูแลรักษาตัวเองหรือไม่ติดตามเฝ้าระวังอาการของตัวเองให้เหมาะสม จนอาจเกิดอาการรุนแรงตามมาได้
5. เราควรพักฟื้นอยู่ที่บ้านนานเท่าไหร่?
ตอบ
ผู้ป่วยควรหยุดงานและพักฟื้นอยู่กับบ้าน หลีกเลี่ยงการพบปะ คลุกคลีกับผู้อื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน หากครบ 7 วันแล้วยังคงมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่บ้าง ก็ให้พักฟื้นอยู่กับบ้าน และหลีกเลี่ยงการพบปะ คลุกคลีกับผู้อื่นต่อไปอีก จนกว่าอาการจะหายสนิทแล้ว 1 วัน
6. ผู้ที่เป็นโรคอ้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือไม่?
ตอบ
ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสจะเกิดอาการรุนแรงได้สูงกว่าคนปกติทั่วไปที่แข็งแรงดี ดังนั้นหากผู้ที่เป็นโรคอ้วนป่วยด้วยอาการที่สงสัยจะเป็นไข้หวัดใหญ่ ก็ควรไปพบแพทย์ทันที
7. หากเราเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง และยังไม่ติดเชื้อ เราควรต้องป้องกันอะไรเป็นพิเศษ (เช่น การสวมใส่หน้าการอนามัย) หรือไม่?
ตอบ
ไม่จำเป็นต้องป้องกันอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ และไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยในที่ชุมชน เนื่องจากหน้ากากอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ หน้ากากอนามัยเป็นเพียงเครื่องมือที่ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ (นั่นคือ ผู้ที่ควรสวมใส่คือผู้ป่วย)
การล้างมือบ่อยๆ และการหลีกเลี่ยงการขยี้ตา แคะจมูก หรือนำนิ้วเข้าปาก
เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อจากมือเข้าสู่ร่างกาย เป็นมาตรการในการป้องกันโรคที่สำคัญในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ป่วย นอกจากนี้กลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำมากๆ ควร
1. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
2. หลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่
8. หากเราไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แปลว่าเราจะไม่มีโอกาสเสียชีวิตใช่หรือไม่
ตอบ
ไม่ใช่ผู้ป่วยที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็มีโอกาสเสียชีวิตเช่นกัน แต่โอกาสที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตในกลุ่มที่ไม่ได้มีความเสี่ยงจะต่ำกว่ากลุ่มเสี่ยง ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงว่าร้อยละ 30 ของผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และมีสุขภาพแข็งแรงก่อนที่จะป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1
9.ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในไทย ขณะนี้มีพอเพียงหรือไม่
ตอบ
ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้สำรองยาต้านไวรัสโอโซลทามิเวียร์ไว้จำนวนหนึ่ง (ประมาณ 400,000 เม็ด) และมีแผนจะจัดซื้อเพิ่มตามความจำเป็น ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาไว้เพียงพอสำหรับการใช้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา ตามแนวทางการใช้ยาต้านไวรัสที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น (ข้อ 2)
10. สมาชิกในครอบครัวที่สบายดี ไม่ป่วย ควรใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่
ตอบ
ผู้ที่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยคือผู้ป่วย เนื่องจากการใส่หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันการกระจายของน้ำมูกและน้ำลายเวลาที่ผู้ป่วยไอหรือจามได้ดี กระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในผู้ที่ยังไม่มีอาการป่วย
11.หากมีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ควรนำสมาชิกคนอื่นๆ ที่ยังไม่ป่วยไปฉีดวัคซีนหรือไม่
ตอบ
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 ได้ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 ได้ ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 อย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552
อย่างไรก็ดีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเสี่ยง แต่ต้องเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนที่แนะนำนี้ เป็นการฉีดเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล ไม่ใช่เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
เพื่อการแสดงผลหน้าเว็ป SPVARIETY ที่ถูกต้องท่านควรใช้ IE8 Firefox & Google Chrome
Download Browsing Click Here
This page is optimized for IE8 Firefox & Google Chrome
Download Browsing Click Here
เขียนโดย sp ที่ 23:08
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น