เพื่อการแสดงผลหน้าเว็ป SPVARIETY ที่ถูกต้องท่านควรใช้ IE8 Firefox & Google Chrome

Download Browsing Click Here

This page is optimized for IE8 Firefox & Google Chrome

เตือนธุรกิจตั้งรับบาทแข็งยาว คาดระยะสั้นมีสิทธิ์หลุด28บาท/ดอลลาร์ ลุ้นคลังออกมาตรการอังคารนี้

|




เตือนตั้งรับบาทแข็งโป๊กปีหน้า โพลนักวิเคราะห์ฟันธงคงมีสิทธิ์ทะลุสู่ระดับก่อนปี 2540 ไกลสุด 25 บาท/ดอลลาร์ ด้านผู้เชี่ยวชาญชำแหละพบปัจจัยหลักมาจาก "เงินทุนไหลเข้า" บวกผลพวงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและผ่อนคลายเชิงปริมาณในสหรัฐและประเทศคู่ค้า สร้างแรงกดดันทำค่าเงินผันผวนหนักอย่างน้อย 2 ปี จับตาคลังเตรียมมาตรการแก้บาทแข็งอังคารนี้

การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท โดยล่าสุดได้แข็งค่าทะลุ 29 บาท/ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา และยังคงผันผวนในแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และกำลังสร้างความวิตกขึ้นโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ส่งออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชาติฯได้สำรวจมุมมองของนักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ต่อแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท พบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ในระยะสั้นหรือประมาณปลายปีนี้บาทน่าจะแข็งค่าไปที่ระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะแข็งค่ากลับไปที่ระดับก่อนเกิดวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540 โดยอาจแข็งค่าสุด 25 บาท/ดอลลาร์

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงมหภาค ธนาคารทหารไทยกล่าวว่า แนวโน้มการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง จากการที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing : QE) ทั้งในสหรัฐและญี่ปุ่น เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงว่าจะมีสภาพคล่องในระบบมากขึ้น และมีความต้องการเข้ามาลงทุนในเอเชีย

"สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เงินในภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีความเป็นไปได้ที่ปลายปีนี้จะแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับที่ 28.00 บาท/ดอลลาร์ และหากทางการยังไม่มีมาตรการออกมาดูแลปีหน้าจะไปถึงระดับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ 25.00 บาท/ดอลลาร์" นายนริศกล่าว

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ยังคงประมาณการค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ที่ 30.00 บาท/ดอลลาร์ และกลางปีหน้า 30.20 บาท/ดอลลาร์ เพราะคาดว่า ธปท.รวมถึงธนาคารกลางในเอเชียจะมีการออกมาตรการเพื่อมาดูแลอัตราแลกเปลี่ยน

"เมื่อถึงระดับหนึ่งเชื่อว่าอาจจะมีความร่วมมือของประเทศอุตสาหกรรมรวมถึงประเทศในเอเชียหารือและมีข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการดูแลค่าเงิน ถ้ามีแนวโน้มดังกล่าว 1-2 เดือนนี้ดอลลาร์จะกลับมาฟื้นตัว พร้อมกับการอ่อนค่าลงของเงินในภูมิภาคเอเชีย" นางสาวอุสรากล่าว

ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าตลาดไม่ปกติ เป็นภาวะของสงครามค่าเงิน ประเทศขนาดใหญ่ออกมาตรการแบบที่ไม่เคยทำ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ค่าเงินจะแกว่งไปด้านใดด้านหนึ่ง จึงคงประมาณการค่าเงินบาทไว้ที่เดิม สิ้นปีนี้เงินบาทน่าจะอยู่ที่ 30.00 บาท/ดอลลาร์


ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ล่าสุด (8 ต.ค.) เทียบกับสิ้น ธ.ค. 2552 เงินบาทแข็งค่า 11.3% เป็นอันดับ 2 รองจากเงินเยนญี่ปุ่นที่แข็งค่า 12.9% ส่วนเงินริงกิต มาเลเซียแข็งค่าเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 10.5% รองลงมาคือ ดอลลาร์สิงคโปร์ 7.6% เงินเปโซ ฟิลิปปินส์แข็งขึ้น 7% เงินรูเปียห์ อินโดนีเซีย 5.6% เงินวอน เกาหลี 4.4% เงินหยวน จีน 2.3% และเงินด่อง เวียดนามอ่อนค่าลง 5% ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ณ วันที่ 1 ต.ค.อยู่ที่ 1.648 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน ก.ย.และ มิ.ย. 2553 ที่ 1.632 แสนล้านดอลลาร์ และ 1.468 แสนล้านดอลลาร์ตามลำดับ


ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารกล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทและเงินในภูมิภาคเอเชียน่าจะปรับค่าแข็งขึ้น เพราะจากนโยบายของสหรัฐที่จะผลักดันส่งออกให้โต 2 เท่าภายใน 5 ปี จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ต้องอ่อนมาก ๆ ประกอบกับเงินหยวนก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากแรงกดดันของสหรัฐและยุโรป
"แม้จะออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า ก็คงเป็นการยากที่จะต้านกระแสแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทและเงินในเอเชีย โดยคาดว่าหากไม่มีมาตรการน่าจะเห็นเงินบาทอยู่ที่ 28.50 บาท/ดอลลาร์" นายพรศิลป์กล่าว

นายพรศิลป์เสนอว่า ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เหมือนกับรู้เรื่องวัตถุดิบว่าราคาจะขึ้นหรือลงเมื่อไร จะคิดเพียงแค่ต้นทุนกับกำไรเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะโลกการเงินมีแนวโน้มจะผันผวนและเคลื่อนไหวรวดเร็วขึ้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้และปรับตัวหาเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ขณะเดียวกันภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ธปท. หรือแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องให้ความรู้กับภาคเอกชนด้วย
ต่อแนวทางแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทและมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จะรายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบในวันอังคารที่ 12 ต.ค. ว่าจะมีมาตรการบรรเทาอย่างไรบ้าง ส่วนการเคลื่อนไหวเงินทุนเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ ตนได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศไปแล้วว่า นายกรณ์จะนำมาตรการดังกล่าวไปชี้แจงทั้งในที่ประชุมธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และจี 20 ที่จะทำให้เกิดการประสานงานในทางนโยบายระหว่างประเทศหลัก ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1286686979&grpid=02&catid=no

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

http://th.wikipedia.org/wiki/รายนามนายกรัฐมนตรีไทย

search

search this site the web
search engine by freefind

ฝากไฟล์

YOUR IP