เพื่อการแสดงผลหน้าเว็ป SPVARIETY ที่ถูกต้องท่านควรใช้ IE8 Firefox & Google Chrome

Download Browsing Click Here

This page is optimized for IE8 Firefox & Google Chrome

ย้อนตีความ15วัน-เทียบคดียุบพรรคอื่น

|

กกต.โอด หมดอายุ แต่ปล่อย สืบพยาน กันเป็นปี



กกต.ชี้ศาล รธน.ยกคำร้องคดียุบพรรคปชป.ด้วยประ เด็นขาดอายุความ ระบุไม่น่าปล่อยให้สืบพยานนานเกือบปี นักวิชาการ-นักกฎหมายถกเถียงคำวินิจฉัยไม่ยุบประชาธิปัตย์ ชี้ศาลรธน.ควรอธิบายมากกว่านี้ว่าทำไมถึงเคร่ง ครัดเรื่องระยะเวลา 15 วัน ส.ว.ชี้ข้อกำหนดศาลรธน.ข้อที่ 50 ระบุว่าศาลต้องวินิจฉัยลงมติให้ครบทุกประเด็น สื่อต่างประเทศประโคมข่าว อาจเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโกรธแค้น เผยย้อนคดียุบพรรคการเมืองอื่นๆ เทียบวันเวลาเกินกำหนด 15 วันทั้งนั้น ขณะที่นักกฎหมายยกคำวินิจฉัยในอดีตถกกันหนัก การตีความ 15 วัน

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง 4-2 ให้ยกคำร้องคดีกกต.ยื่นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์จากกรณีใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาการเมือง 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ โดยกระบวนการยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายเลยกำหนด 15 วัน ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันในแวดวงนักกฎหมาย รวมถึงสื่อ มวลชนต่างประเทศ โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานผลการวินิจฉัยของศาลอย่างใกล้ชิด เรเชล ฮาร์วี ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงเทพฯ วิเคราะห์ว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอาจทำให้กลุ่มฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเป็นเดือดเป็นแค้น ในประเด็นที่ยกฟ้องด้วยเงื่อนไขทางเทคนิคว่า กระบวนการยื่นคำร้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้านเงื่อนเวลา แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดศาลถึงเห็นชอบให้เปิดพิจารณาและไต่สวนคดีมานาน 3 เดือน

ขณะที่เอเอฟพีของฝรั่งเศสรายงานว่า คำตัด สินอาจปลุกเร้าให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโกรธแค้น เนื่องจากเชื่อว่าประเทศไทยมี 2 มาตรฐาน บางกลุ่มคลางแคลงใจแต่แรกว่าผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในกองทัพจะยอมให้พรรคโดนยุบจริงหรือ

ส่วนเอพีของสหรัฐ รายงานว่า รัฐบาลอภิ สิทธิ์รอดพ้นจากการยุบพรรคครั้งนี้ เป็นอีกเหตุ การณ์หนึ่งที่การเมืองมีแรงกดดันสูงต่อศาล และเกิดขึ้นหลังจากเกิดความแตกแยกในไทยนับจากปี 2549 ที่เกิดเหตุรัฐประหารโค่นพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาถึงเหตุการนองเลือดบนท้องถนนเมื่อเดือนพ.ค.2553 ที่มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังเผชิญกับคำร้องเรียนกรณีเงินบริจาคจากกลุ่มบริษัทปิโตรเคมี 258 ล้านบาท คาดว่าศาลจะตัดสินในปีหน้า

ด้านรอยเตอร์ วิเคราะห์ว่า คำตัดสินจะทำให้เกิดความโกรธแค้นแก่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งมีทหารสนับสนุน แต่อ่อนแอด้วยความไม่มีเสถียรภาพภายในได้ผ่านช่วงยากลำบากอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้นักวิชาการและนักกฎหมายยังมีการถกเถียงกันในประเด็นข้อกำ หนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 50 ระบุว่า การพิจารณาวินิจฉัยของศาลให้วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลกำหนดมิได้ และยังมีการหยิบยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18/2550 เมื่อวันที่ 18 ต.ค2550 เรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้คณะตุลา การรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคธัมมาธิปไตย และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2550 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2550 เรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังธรรม เปรียบเทียบเรื่องการยึดวันที่ผู้ร้องได้พิจารณาและเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเปรียบเทียบกับการวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เรื่องการขาดอายุความ

นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน กล่าวว่า หากศาลตัดสินเช่นนี้ไม่น่าเสียเวลาสืบพยานเป็นปี ทำให้ขาดโอกาสรับฟังว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ ผลจากการพิจารณายอมรับว่ากกต.ต้องกลับมาทบทวนบทบาทการทำงานขององค์กรทั้งหมด แม้เรื่องนี้กกต.คนอื่นจะไม่เกี่ยวข้อง เป็นการดำเนินการในบทบาทของนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่เมื่อผลออกมาเช่นนี้ การประชุมกกต.ทุกวันอังคารน่าจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยว่าเกิดกรณีเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะก่อนหน้ามีการเตือนในที่ประชุมกันแล้วว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งผลที่ออกมามีผลผูกพันทุกองค์กรให้ต้องปฏิบัติตาม

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยของคดีออกมาในลักษณะเช่นนี้ ทุกฝ่ายก็คงต้องยอมรับคำวินิจฉัยของศาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลต้องถือเป็นที่สิ้นสุด ในส่วนของนายทะเบียนพรรคการเมืองและกกต. ถือว่าเราได้ทำในส่วนที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของข้อเท็จจริง หรือเรื่องต่างๆ ถึงแม้ศาลจะไม่ได้มีคำวินิจฉัยในส่วนของข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ออกมาก็ตาม

นายประพันธ์ กล่าวว่า กกต.ได้ส่งสำนวนที่เกี่ยวกับการยุบพรรคประชาธิปัตย์ไปที่ศาลรัฐ ธรรมนูญจำนวน 2 คดี คือ คดีความผิดเกี่ยวกับใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ไม่ตรงกับรายงานความเป็นจริง และคดีความผิดเกี่ยวกับเงินบริจาค 258 ล้านบาท ในส่วนของคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาล

ส่วนนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิ การบดี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยา ลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญคงเห็นว่าในเมื่อตัวคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ไม่มีประเด็นให้ต้องดูคำร้องข้างในอีกต่อไป แต่ตนเห็นว่ามีเรื่องที่เป็นคำถามอยู่ 2 ประ เด็น ประเด็นแรกคือ การที่นายทะเบียนพรรค การเมืองยื่นคำร้องในเรื่องนี้เกินเวลา 15 วัน มีผลถึงขนาดทำให้คำร้องต้องตกไปทั้งหมดหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะให้เหตุผลทางกฎหมายในข้อนี้ด้วย ระยะเวลา 15 วันถือว่าสั้นมาก สมมติว่าหากจะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็เพียงแต่ส่งคำร้องให้เกินไปหนึ่งวัน ก็จะพ้นวิสัยที่จะนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

"เรื่องนี้เขียนไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรม นูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 93 ว่า ให้นายทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่พบเหตุที่นำไปสู่การยุบพรรค ก็พูดได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติตามกติการของกฎหมายพรรคการเมือง เพียงแต่ต้องมีการอธิบายว่า กติกาข้อนี้ที่บกพร่องไป มันบกพร่องถึงขนาดคำร้องต้องตกไปเลยเชียวหรือ เรื่องของระยะเวลาในกฎหมายมี 2 แบบ คือระยะเวลาเคร่งครัด ถ้าไม่ทำตามจะมีผลทำให้กระบวนการเสียไปเลย กับระยะเวลาเร่งรัด คือถึงไม่ทำตามก็เป็นแค่บกพร่อง แต่ไม่ถึงกับทำให้เสียไป ครั้งนี้ศาลตีความว่าเป็นระยะเวลาเคร่งครัดก็ถือเป็นอำนาจของท่านในการตีความ เพียงแต่น่าจะมีเหตุผลในการอธิบายด้วยว่าทำไมถึงเคร่งครัดขนาดนั้น"

นายปริญญา กล่าวอีกว่า ประเด็นคำถามที่ 2 คือ หากคำร้องตกไปเพราะยื่นเกิน 15 วัน ทำไมศาลจึงไม่ชี้ขาดเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ทำไมถึงปล่อยให้มีการต่อสู้คดี นำสืบคดี มาจนถึงขั้นตอนนี้ ถ้าเห็นว่า เรื่องนี้ตัวคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายจนกระทั่งไม่ต้องดูเนื้อหาข้างในว่ามีการทำผิดกฎ หมายเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าจะใช้แนวนี้ในการตัดสินคดีนี้ก็น่าจะให้คำร้องตกไปตั้งแต่ต้น ทางหนึ่งอาจจะพออธิบายได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญคงอยากให้มีการรับฟังทุกประเด็นจนครบถ้วนก่อนจึงตัดสิน อย่างไรก็ตาม ข้อที่ว่าคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เนื้อหาในการตัดสินคดียุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค เรื่องนี้จึงน่าจะจบตั้งแต่แรกไปแล้ว ขณะนี้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมกติกา หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตีความกติกา ก็ได้ตัดสินมาแล้ว ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ

นายปริญญากล่าวถึงกรณีที่กกต.และศาลรัฐธรรมนูญตีความวันเริ่มต้นนับกำหนดยื่นเรื่องภายใน 15 วันไม่ตรงกันว่า อำนาจในการจะชี้ว่าจะนับแบบไหนอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือยังขาดคำอธิบายว่าทำไมถึงนับแบบนี้ และการนับแบบนี้มีผลทำให้คำร้องตกไปเลยยิ่งต้องอธิบาย อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าการมีข้อบกพร่องในกระบวนการไม่น่าจะมีผลให้เรื่องนั้นเป็นโมฆะ หรือตกไปทุกเรื่อง แล้วแต่ว่าเรื่องนั้นมีผลสำคัญขนาดไหน บางเรื่องหากไม่ทำตามก็เป็นเหตุให้โมฆะ และตกไปเลย บางเรื่องหากไม่ทำก็มีผลให้บกพร่องไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับเสียหายทั้งหมด ตนคิดว่าศาลคิดว่าเรื่อง 15 วันเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ตกไปเลย

"โดยส่วนตัวผมเห็นว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะถึงขนาดทำให้ตกไป และคนจำนวนมากก็ไม่คิดว่าเรื่องจะตกไปเพราะสาเหตุนี้ แต่คิดว่าจะยุบประชาธิปัตย์หรือจะยกคำร้อง ต้องดูที่เนื้อหาว่าทำผิดหรือไม่ อย่างไร แต่ก็ไม่ได้มีการนำเรื่องนี้มาวินิจฉัยเลย คนก็เลยรู้สึกว่าเรื่องที่รอฟังอยู่ กลับไม่มีการชี้ขาด การที่คำวินิจฉัยออกมาแบบนี้ แต่เดิมภาระรับผิดชอบทั้งหมดอยู่ที่ศาลรัฐธรรม นูญ ตอนนี้กลับเป็นแบ่งภาระมาที่กกต.ด้วย ว่าเป็นเพราะกกต.และนายทะเบียนทำให้คดีนี้ตกไป คนก็จะตั้งคำถามกับกกต.ว่าทำไมทำให้คำร้องตกไป แทนที่จะตั้งคำถามกับศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว" นายปริญญากล่าว

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องนี้ตี ความได้ทั้ง 2 อย่าง แต่มีข้อควรระวัง 2 เรื่องในคดีแพ่ง เรื่องอายุความจะใช้บังคับเคร่งครัด แต่กรณีคดีมหาชน คดีปกครอง คดีศาลรัฐธรรมนูญ และคดีการเมือง หากเป็นประโยชน์ต่อสาธารณ ชน อาจไม่ใช้บังคับเรื่องอายุความ หรือระยะเวลาเคร่งครัดก็ได้ เช่นกรณีศาลปกครองรับคดีที่ชาวบ้านฟ้องจำนวนมาก ซึ่งพ้นอายุความแล้ว แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมและสาธารณชน ศาลก็รับฟ้อง

นายสมชายกล่าวว่า อีกเรื่องคือศาลรัฐธรรม นูญต้องวินิจฉัยแต่แรกแล้วว่าจะรับคดีนี้ หรือเรื่องนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลหรือไม่ การฟ้องสมบูรณ์ หรือไม่สมบูรณ์ ทำไมจึงปล่อยระยะเวลาให้รอนาน และไปเสียเวลาสืบพยานเรื่องนี้อยู่ถึง 7-8 เดือน ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายที่มีความสามารถขั้นเอกอุไม่รู้แต่ต้นหรือว่ามีปัญหาเรื่องเงื่อนเวลา เรื่องนี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมาอย่างนี้ก็ถือว่าจบแล้ว กกต.ไปทำอะไรไม่ได้อีก แต่ที่อยากถามคือทำไมศาลไม่สั่งรับพิจารณาคดีนี้แต่แรก

นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประ ธานคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ขอตั้งข้อสังเกตในรัฐธรรมนูญปี 50 ปกติศาลกำหนดข้อบังคับที่ 50 ระบุว่าถ้าศาลกำหนดประเด็นในการวินิจฉัย ศาลต้องลงมติให้ครบทุกประเด็น อย่างการตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลตั้งไว้ 5 ประเด็น ต้องมีการลงมติในทุกประเด็นว่าข้อ 1 มติเท่าไหร่ ข้อ 2 มติเท่าไหร่ แต่การตัดสินครั้งนี้มีเพียงการลงมติเพียงประเด็นเดียว ศาลต้องออกมาอธิบายอีกมุมหนึ่ง ถ้าศาลลงมติครบ 5 ประเด็นจะช่วยคลี่คลายความสงสัยให้กับสังคมได้มากกว่านี้

นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณบดีคณะนิติ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ข้อกำหนดที่ระบุว่าให้ศาลวินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด หมายถึงเมื่อข้ามขั้นตอนการยื่นไป หากมีข้อเนื้อหากี่เรื่อง มีประเด็นที่ต้องพิจารณากี่ประเด็น ศาลต้องวินิจฉัยทั้งหมด กรณีนี้จึงถือว่าศาลทำตามขั้นตอนที่กฎหมายระบุไว้ อีกทั้งการกระทำของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่การงดออกเสียง หากจะตีความว่าเป็นการงดออกเสียง ต้องหมายความว่าการยื่นไม่มีข้อบกพร่อง เมื่อการยื่นไม่มีข้อบกพร่อง จึงจะไปพิจารณาในเนื้อหาได้ แต่ถ้าการยื่นบกพร่อง จะไปดูในเนื้อหาไม่ได้ เพราะถือว่ากระบวนการเริ่มต้นไม่ได้

นายเจษฎ์ กล่าวอีกว่า ในการติดตามคดีนี้ ตนและหลายๆ คนจะเน้นดูในส่วนของเนื้อหาว่า การ กระทำของพรรคประชาธิปัตย์เป็นความผิดหรือไม่ ผิดตามมาตราไหน และจะถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ ไม่ได้คาดคิดว่า ศาลจะพิจารณาในเชิงกระบวนการ ในเบื้องต้นเห็นว่า ถ้าการยื่นของอัยการไม่ได้มีปัญหาชัดเจนจริง จะมีปัญหาตามมาอีกมาก เพราะคดีแบบนี้สาระสำคัญอยู่ที่เนื้อหา ส่วนกระบวนการเป็นเรื่องรอง แต่ตามหลักกฎ หมายของเรา ถ้ากระบวนการผิดพลาด ก็ถือว่าล้มกระดานไปเลย ถ้ากระบวนการยื่นของอัยการมีปัญหาชัดเจนจริง และตอบคำถามได้ทุกส่วนว่า การยื่นไม่ชอบอย่างไร กำหนดยื่นใน 15 วันนับอย่างไร เรื่องนี้ก็แล้วกันไป แต่ถ้าหากไม่ชัดเจน จะเหมือนกับเป็นการเลี่ยงเนื้อหา และจะเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมกรณีนี้ไม่ผิด ทำไมกรณีนี้เลินเล่อได้ แล้วทำไมตอนพ.ต.ท.ทักษิณไม่เป็นแบบนี้ เกิดการนำไปเทียบกับพรรคอื่นๆ เพราะพรรคอื่นๆ ที่พิจารณาโดยเนื้อหาทั้งหมดอีก

"ผมคิดว่ามันเป็นข้อกังขาพอสมควร หลายฝ่ายก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น บรรดาผู้เกี่ยวข้องก็ได้แต่เงียบ ขณะนี้เป้านอกเหนือจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องมุ่งไปที่กกต.และอัยการ เกิดเรื่องราวลักษณะนี้ขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อกกต.ไม่ได้ทำเรื่องราวลักษณะนี้ครั้งแรก อัยการก็ไม่ได้เคยทำครั้งแรก ทำมาหลายครั้งไม่เคยเป็นปัญหา ทำไมต้องมาจำเพาะเป็นปัญหาในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์" นายเจษฎ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบคดียุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา พบว่าคดีที่กกต.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคการเมืองนั้นเกินกำหนดเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนดทั้งนั้น โดยคดียุบพรรคไทยรักไทย กกต.มีมติยุบเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2549 อัยการส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 6 ก.ค.2549 เป็นระยะเวลา 17 วัน เกินกำหนดไป 2 วัน คดียุบพรรคประชาธิป ไตยก้าวหน้า กกต.ลงมติให้ยุบพรรควันที่ 12 เม.ย.2549 อัยการส่งคดีให้ศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 6 ก.ค.2549 เกินกำหนดเวลา 15 วันไปกว่า 3 เดือน คดียุบพรรคพลังประชาชน กกต.ลงมติให้ยุบพรรควันที่ 2 ก.ย. 2551 อัยการส่งคดีให้ศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 10 ต.ค. 2551 เกินกำหนดเวลา 15 วันไปเดือนเศษ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNek13TVRFMU13PT0=

0 ความคิดเห็น:

search

search this site the web
search engine by freefind

ฝากไฟล์

YOUR IP