ไม่ผิดหวังเลยกับการทดลองต่อหูฟังสวมศีรษะหรือเฮดเซตไร้สาย Jabra HALO เข้ากับคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือในเวลาเดียวกัน พบว่าสะดวกสบายเหลือเกินกับการ"สวิตช์"หรือการเปลี่ยนโหมดการทำงานของ 2 อุปกรณ์แบบอัตโนมัติ ที่สำคัญคุณภาพเสียงที่ได้จาก Jabra HALO ยังไม่ทำให้เสียชื่อการเป็นเฮดเซตไร้สายระบบสเตอริโอรุ่นแรกของโลก เรียกว่าเสียงดีสมกับราคาจำหน่ายที่สูงกว่าหูฟังบลูทูธระบบสเตอริโอทั่วไปในท้องตลาด
หูฟังบลูทูธที่สามารถต่อกับโทรศัพท์มือถือ 2 หรือ 3 เครื่องพร้อมกันนั้นมีให้เห็นในตลาดแล้วก็จริง แต่สำหรับเฮดเซตระบบสเตอริโอที่ออกแบบมาเพื่อการฟังเพลงนั้นทำให้ Jabra HALO โดดเด่นที่การต่อกับเครื่องเล่นเพลง MP3 พกพาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ เพื่อความแปลกใหม่ เราจึงเลือกที่จะทดสอบ Jabra HALO กับอุปกรณ์อื่นๆอย่างคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปแทน และพบว่า Jabra HALO สามารถทำได้ดีในการสลับโหมดการทำงานระหว่าง 2 อุปกรณ์
เราทดลองต่อ Jabra HALO โดยบลูทูธกับโทรศัพท์มือถือ N79 และคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊ก Lenovo S10 ในเวลาเดียวกัน โดยขณะเปิดไฟล์ภาพยนตร์ในแล็ปท็อป พบว่าหากผู้ใช้ต้องการต่อโทรศัพท์ จะไม่จำเป็นต้องเอื้อมไปกดปุ่มหยุดภาพยนตร์ในแล็ปท็อปให้เมื่อย แค่คว้าโทรศัพท์มือถือมากดปุ่ม โปรแกรมเล่นไฟล์ภาพยนตร์จะหยุดเล่นเองอัตโนมัติ โดยค่อยๆลดเสียงลง เมื่อวางสาย ไฟล์ภาพยนตร์ก็จะเล่นใหม่โดยค่อยๆเร่งเสียงขึ้น ลักษณะเดียวกับหูฟังบลูทูธที่ต่อเข้ากับโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ซึ่งจะหยุดเล่นไฟล์เพลงหรือวิดีโอไว้เมื่อมีสายโทรเข้า และจะเล่นต่อเมื่อสายถูกตัด
ในส่วนคุณภาพเสียงของ Jabra HALO เรียกว่าให้เสียงคมใสมากกว่าเสียงเบส และต้องขอเตือนว่าอาจจะเกิดอาการสับสนได้ว่าการปรับเพิ่ม-ลดระดับเสียงเพลงด้วยแผงควบคุมการทำงานระบบสัมผัส ที่แฝงตัวเรียบเนียนด้านข้างของเฮดเซตนั้นใช้งานอย่างไรระหว่างการลูบหรือแตะ ซึ่งสรุปว่าต้องแตะและลูบจึงจะทำงาน
จากการทดสอบพบว่าโหมดใช้สายเชื่อมต่อที่มีปลายอีกด้านเป็นตัวต่อขนาด 3.5 มิลลิเมตร เพื่อใช้ฟังเพลงกับอุปกรณ์ที่ไม่บลูทูธอย่างคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปนั้น Jabra HALO จะทำงานไม่ได้หากไม่ชาร์จไฟในเฮดเซต โดยผู้ใช้จะต้องเปิดเครื่องด้วยการประกอบเฮดเซตให้แน่นก่อนจึงจะใช้งานได้ เนื่องจากปุ่มเปิดการทำงานของเฮดเซตนั้นฝังอยู่บริเวณข้อต่อ ซึ่งจะทำงานเมื่อมีการประกอบเฮดเซตให้แน่นเท่านั้น โดยจะปิดการทำงานทันทีที่ต่อไม่แน่น (แม้จะไม่ได้พับ) ซึ่งในคู่มือระบุว่าเป็นการออกแบบโดยอาศัยสัญชาตญาณของผู้ใช้
ในโหมดเชื่อมต่อแบบใช้สาย Jabra HALO ยังสามารถสลับการทำงานระหว่างโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อบลูทูธอยู่ได้ด้วย ถือว่าน่าประทับใจพอสมควร
จากการสอบถามปลายสายโทรศัพท์ พบว่า Jabra HALO สามารถทำงานเป็นแฮนด์ฟรีโทรศัพท์มือถือได้ดี ให้เสียงชัดเจนไม่มีเสียงรบกวน ผลจากเทคโนโลยี Noise Blackout ซึ่งคนปลายสายระบุว่ารู้สึกเหมือนคุยตามปกติ
Jabra HALO ยังทำได้ดีในแง่ของการพกพา เมื่อพับจะมีขนาดราว 13-15 เซนติเมตรเท่านั้น น้ำหนักเบา 80 กรัม สำหรับแบตเตอรี่ไม่น่าเกลียดเพราะเมื่อฟังเพลงต่อเนื่อง 5 ชั่วโมง คุยอีก 1 ชั่วโมงก็ยังไม่เตือนว่าแบตเตอรี่ต่ำ ทดสอบสัญญาณระยะ 2 เมตรแต่มีสิ่งกีดขวางพบว่าสัญญาณขาดหาย สำหรับในห้องโล่งสัญญาณชัดเจนดีในระยะ 5 เมตร
สิ่งที่รู้สึกอยากติใน Jabra HALO คือการปิดการทำงานทันทีเพราะการประกอบเฮดเซตไม่แน่น จุดนี้ทำให้ต้องประกอบหูฟังบ่อยครั้งเนื่องจากไม่ได้ตั้งใจพับหูฟัง แต่หูฟังนั้นพับลงมาเอง ขณะเดียวกัน เมื่อใช้งานในระยะแรก จะรู้สึกไม่ชินกับการที่หูฟังไม่ครอบหู ทำให้รู้สึกไม่แนบแน่นและรายละเอียดของเสียงเพลงที่ควรได้นั้นหายไป แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ความสบายที่ได้ก็ทำให้รู้สึกว่า Jabra HALO คิดถูกแล้วที่ออกแบบมาเช่นนี้
สรุป คือ Jabra HALO ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่มีโทรศัพท์มือถือที่รองรับ A2DP (Advanced Audio Distribution Profile) ซึ่งสามารถให้เสียงระบบสเตอริโอผ่านหูฟังบลูทูธได้ และไม่สนใจกับราคาที่ค่อนข้างสูง (4,290 บาท)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น