เพื่อการแสดงผลหน้าเว็ป SPVARIETY ที่ถูกต้องท่านควรใช้ IE8 Firefox & Google Chrome

Download Browsing Click Here

This page is optimized for IE8 Firefox & Google Chrome

"กูเกิล เอิร์ธ 5.0" ทะลวงมหาสมุทร ทะลุดาวอังคาร!

|

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th
ผมไม่รู้ว่าแฟนๆ มติชน "ไลฟ์ แอนด์ เทค" เข้าไปใช้งาน กูเกิล เอิร์ธ กันบ้างหรือเปล่า แต่เข้าใจว่าทุกคนคงรู้จักมักคุ้นกับโปรแกรมแผนที่ผ่านดาวเทียมจากกูเกิลนี้ดีอยู่นะครับ เพราะเป็นข่าวเป็นคราวไม่หยุดหย่อน หลังสุดเห็นว่าพวกก่อการร้ายที่เข้าไปป่วนเมืองมุมไบที่อินเดีย ก็อาศัยกูเกิล เอิร์ธนี่แหละเป็นคู่มือ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า กูเกิล เอิร์ธ ควรจะหายสาบสูญไปจากโลกออนไลน์นะครับ ผมว่ามันก็เหมือนๆ กับอะไรๆ อีกหลายอย่างที่ให้ผลทั้งสองด้าน ขึ้นอยู่กับว่าคนเราจะนำมันไปใช้งานในทางที่เป็นประโยชน์โภชผลหรือไม่เท่านั้นเอง

พูดเรื่องกูเกิล เอิร์ธ ขึ้นอีกครั้งเพราะอยากแนะนำให้ทุกคนทดลองกูเกิล เอิร์ธ 5.0 เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดของโปรแกรมนี้ครับ อย่างที่ผมจั่วหัวเอาไว้นั่นแหละมันสามารถพาเราทะลุทะลวงตั้งแต่พื้นมหาสมุทรไปยันดาวอังคารได้เลยทีเดียว อย่างนี้แล้วใครจะไปอดใจไหว

ที่สหรัฐอเมริกามีการเปิดตัวเวอร์ชั่นใหม่นี้กันครึกโครมเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาครับในนครซานฟรานซิสโก เท่ไม่เบาเพราะหนึ่งในจำนวนผู้ที่ไปกล่าวเปิดตัวนั่นก็คือ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ดังกว่าเอาอีตอนที่เขียนหนังสือ "อันคอนวีเนียนท์ ทรูธ" หรือ "โลกร้อน" ออกเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลก (ใครอยากอ่านภาษาไทย


สำนักพิมพ์มติชนมีแปลวางจำหน่ายแล้วครับ หาดูได้ตามร้านหนังสือทั่วไป)



อัล กอร์ บอกเล่าถึงคุณสมบัติของเวอร์ชั่นใหม่นี้ไว้ว่า จะนำเราดำดิ่งสู่มหาสมุทรซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบ 3 ใน 4 ของโลก และค้นพบสิ่งมหัศจรรย์มากมายที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน "คุณสามารถย้อนเวลากลับไปมองดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนโลกใบนี้ ซึ่งโดยมากแล้วเป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์ อย่างเช่น สามารถดูภาพการหลอมละลายของธารน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นั่นคือการหลอมละลายของธารน้ำแข็งกรินเนลล์ในอุทยานธารน้ำแข็งแห่งชาติ"

ครับ อัล กอร์ กำลังพูดถึงฟีเจอร์ใหม่ของเวอร์ชั่นนี้ ที่เรียกว่า "ฮิสทอริคอล อิเมเจอรี่" ที่สามารถนำเราย้อนเวลากลับไปดูเหตุการณ์ในอดีตได้ ด้วยการดึงเอาภาพถ่ายผ่านดาวเทียมเก่าในพื้นที่เดียวกันนำมาเปรียบเทียบกับภาพชุดใหม่ เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจสร้างผลกระทบถึงขนาดทำให้เราๆ ท่านๆ เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติ ต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรของเราได้ และทำให้ เอริค ชมิดท์ หัวเรือใหญ่ของกูเกิลยืนยันว่า การเปิดตัว เวอร์ชั่น 5.0 ครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

แผนที่ใต้ทะเลที่ว่านี้อยู่ในฟีเจอร์ "โอเชียน" ของกูเกิล เอิร์ธ ครับ ในความเห็นส่วนตัวของผม สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่สนใจในเรื่องการสำรวจพื้นภูมิใต้ทะเลลึกในแบบ 3 มิตินั้น ไม่ใช่เพียงแค่แผนที่ภูมิทัศน์ใต้ทะเลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเนื้อหาของข้อมูลที่นำมาผสมผสานควบคู่ไปกับการเรียนรู้ภูมิทัศน์ที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อนจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักสำรวจมหาสมุทรระดับโลก ทั้งในรูปของภาพถ่าย ภาพวิดีโอ ข้อมูลจากเนชั่นแนล จีโอกราฟิกเป็นอาทิ ทำให้เราสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวภาพอันหลากหลายใต้น่านน้ำในหลายท้องถิ่นซึ่งจะมีประโยชน์มหาศาลสำหรับผู้ที่ศึกษาหรือชื่นชอบทางด้านนี้ และกูเกิลก็ไม่ลืมที่จะใส่ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเข้าไปด้วย อย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพทะเลของแหล่งโต้คลื่น ดำน้ำ หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอื่นๆ

ใครอยากเริ่มต้นผมขอให้ลองตรวจสอบแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลดังๆ ของบ้านเราดูเป็นปฐมครับ อย่างเช่นหมู่เกาสิมิลันหรือเกาะราชา เผื่อว่าจะได้มีโอกาสไปตรวจสอบสัมผัสกับสภาพจริงๆ ไปด้วยในเวลาต่อไงครับ

ฟีเจอร์ "ทัวร์ริ่ง" ที่มาใหม่พร้อมกับเวอร์ชั่นนี้ ช่วยให้เราสามารถสร้างชุดภาพและข้อมูลการเดินทางพร้อมคำบรรยายได้ด้วยการใช้ปุ่ม "บันทึก" เพื่อเดินทางจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซูมเข้าออก และคลิกดูเนื้อหาจาก "บัลลูน" ที่จะแสดงคำบรรยายพร้อมเสียงพากย์ไปตลอดเส้นทาง น่าสนุกครับ

สุดท้ายที่อยากจะพูดถึงก็คือ ฟีเจอร์ มาร์ส 3D ที่เพิ่มเติมเข้ามาในแกเล็กซี่เสมือนจริงของกูเกิล นำเราสู่ดาวอังคารได้ในชั่วพริบตา ได้เห็นภาพความละเอียดสูงและภูมิทัศน์ดาวอังคารแบบ 3 มิติ หยุดดู ภูเขาไฟที่สูงที่สุดในระบบสุริยะอย่าง ภูเขาไฟ โอลิมปัส มอนส์ พร้อมข้อมูลที่ตัดทอนมาจาก "อะ ทราเวลลอร์ส ไกด์ ทู มาร์ส" อีกด้วย

ที่สำคัญ เขาบอกว่า กูเกิล เอิร์ธ ใช้งานได้ใน 40 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วยครับ...ไชโย!


http://clip-d.blogspot.com/2009/02/explore-ocean-in-google-earth-50.html
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01tec01070252&sectionid=0143&day=2009-02-07

0 ความคิดเห็น:

search

search this site the web
search engine by freefind

ฝากไฟล์

YOUR IP