ทักษิณ” เล็งส่งจดหมายเปิดผนึก แจงความเห็นและท่าทีในการทำงานต่าง ๆ ในฐานะที่ปรึกษากัมพูชา ถึง นายกรัฐมนตรี ขณะที่ “นพดล” ข้อหาปัดชักศึกเข้าบ้าน ชี้ แค่รัฐบาลพยายามปลุกกระแสชาตินิยม สู้ ...
ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะอดีตที่ปรึกษากฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงกรณีที่ทางการไทยเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กลับประเทศไทยเพื่อประท้วงกรณีรัฐบาลกัมพูชาได้แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ค่อนข้างเป็นห่วงในแง่ของการดำเนินการทางการทูตที่สุ่มเสี่ยงว่าจะทำให้ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเสียหาย ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่ารัฐบาลทำเกินกว่าเหตุและนำประเด็นการเมืองภายในประเทศไปกดดันประเทศเพื่อนบ้านจนความสัมพันธ์เสื่อมทรามลง
ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหันไปมองตัวเองสักนิดหนึ่งว่าสาเหตุที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจากอะไร โดยเฉพาะการแต่งตั้งนายกษิต เป็นรัฐมนตรีงว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรี ถึงความเห็นและท่าทีต่างๆและการทำงานในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ
“เรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่ความตึงเครียดตามแนวชายแดน จะทำให้การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบานปลาย และมีการยกระดับเรื่องนี้ไปสู่เวทีสากล โดยเฉพาะเวทีสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้ปัญหาแก้ยากมากขึ้น ความเสียหายตามแนวชายแดนได้รับผลกระทบแล้ว เราต้องเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีได้ใช้ความยับยั้งชั่งใจ และหาทางเจรจากับทางกัมพูชา แต่ท่าทีล่าสุดของนายกรัฐมนตรี ที่ประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความสามารถ เพราะเมื่อมีการทะเลาะกันคุณต้องหาโอกาสให้กระทรวงการต่างประเทศทาบทามขอเวลาหารือทวิภาคี เพื่อหาพูดคุยกัน ขอให้นายอภิสิทธิ์อย่าปลุกกระแสชาตินิยม”
นายนพดล กล่าวผู้สื่อข่าวถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะทบทวนการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลกัมพูชาหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบรับไปแล้ว ซึ่งการดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้รับเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับกัมพูชาเท่านั้น แต่รับเป็นที่ปรึกษาให้อีกหลายประเทศ อาทิ นิการากัว และหลายประเทศในกัมพูชา
เมื่อถามว่าปัญหาดังกล่าวเหมือนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ชักศึกเข้าบ้าน นายนพดล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ชักศึกเข้าบ้าน การกล่าวหาคนอื่นว่าชักศึกเข้าบ้านเป็นการกล่าวหาที่ง่าย เป็นการกล่าวหาคล้ายวาทะกรรมในช่วงสงครามเย็น ที่ปลุกระดมว่าคนไหนเป็นคอมมิวนิสต์ สำนวนอย่างนี้เป็นสำนวนของนักการเมืองแบบเก่าที่ใช้โจมตีคนอื่น พ.ต.ท.ทักษิณ รักประเทศไทย และสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี ก็ยังเป็นเพื่อนของประชาชนไทย แต่อาจจะทำงานกับรัฐบาลชุดนี้ไม่ราบรื่นนักเมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มองตัวเองหรือไม่ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความบาดหมางของทั้ง 2 ชาติ นายนพดล กล่าวว่า อันนั้นน่าจะเป็นข้อกล่าวหาของรัฐบาล พยายามที่จะตำหนิ พ.ต.ท.ทักษิณแต่จริงๆไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยมาจากการยึดอำนาจโดยทหาร ทำให้ประเทศไม่มีประชาธิปไตย คดีความต่างๆเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจรัฐบาลนี้พยายามที่จะใช้ทุกกลไกไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งไม่เป็นธรรมเมื่อถามว่าล่าสุด นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าสมเด็จฮุนเซน ตอบแทน พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณ เคยให้ความช่วยเหลือสมเด็จฮุนเซน ในการเลือกตั้งที่กัมพูชา นายนพดล กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าแต่งตั้งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจจะมีลาภยศอะไรให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะถือเป็นการตอบแทนหรือปูนบำเหน็จ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นเรื่องที่กัมพูชาต้องการใช้ความรู้ความสามารถของพ.ต.ท.ทักษิณเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
ด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวแสดงจุดยืนต่อท่าทีรัฐบาลที่สั่งลดความสัมพันธ์กับกัมพูชาโดยเรียก ทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศไทย โดยออกเป็นแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยว่า พรรคเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องสำคัญไม่สามารถแบ่งแยกได้ โดยเฉพาะเป็นประเทศกลุ่มอาเซียน ดังนี้
1.พรรคเห็นว่ารัฐบาลได้ทำเกินกว่าเหตุ กำลังนำผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศไปสู่ภาวะสุ่มเสี่ยง ถือเป็นการตอบโต้ไร้วุฒิภาวะทางการทูต จะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในทางการทูตทั้งสองประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะ ยาว
2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบในความเสื่อมทรามของความสัมพันธ์ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความตึงเครียดตามแนวชายแดน ถ้าแก้ไม่ได้ อาจนำไปสู้ข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไป
3.พรรคได้ศึกษาข้อกฎหมายถึงการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา โดยพระมหากษัตริย์ของกัมพูชา เป็นการออกกฎหมายภายในกัมพูชา ถือเป็นกิจการภายในของกัมพูชา การที่รัฐบาลจะอ้างเหตุผลนี้มาตอบโต้ ก็คงฟังไม่ขึ้น และเชื่อว่าประชาชนจะไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลกล่าวอ้าง
4.ความ สัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทย เสื่อมทรามลงมาตลอด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีตั้งนายกษิต ภิรมย์ เป็น รมว.ต่างประเทศ เอาคนที่เคยยึดสนามบิน เป็นคนที่เคยไปด่าผู้นำกัมพูชา ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ทำให้เกิดความกินแหนงแคลงใจมาตลอด
5.ตลอด 10 เดือนรัฐบาลไม่มีมาตรการในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกัมพูชาอย่างเป็นรูปธรรม ตรงกันข้ามนายกรัฐมนตรีได้ไปพูดตำหนิ เหยียดหยามผู้นำกัมพูชาในช่วงการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา
6.การดำเนินการของรัฐบาลไม่ได้กระทำตามขั้นตอนจากมาตรการขั้นเบาไปหาหนัก ถือว่าผิดธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูต
7.รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไม่มีความชอบธรรมแอบอ้างว่าได้ดำเนินการประท้วงกัมพูชาในนามคนไทยทั้งประเทศ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากมีที่มาไม่ชอบธรรมและไม่เห็นด้วยกับการทำลายความสัมพันธ์กับ กัมพูชา
8.รัฐบาลชุดนี้ ไร้ความรับผิดชอบในการนำประเด็นการเมืองภายใน ไปกดดันประเทศเพื่อนบ้าน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติความพยายามปลุกกระแสรักชาติ เพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวในการทำงานและปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น
9.พรรค ถือว่าเพื่อนบ้านคือเพื่อนที่ต้องอยู่ด้วยกันอย่าง สันติสุขและรุ่งเรือง เราต้องเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันทุกพรรคจะเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเร่งด่วน ตามแนวนโยบาย ไทยร่มเย็น เป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน
10.รัฐบาลดำเนินนโยบายต่างประเทศผิดพลาด เป็นการทำลายจิตวิญญาณและปณิธานของสมาคมอาเซียนที่ต้องการอยู่อย่างสันติ วันนี้นายกฯกำลังทำให้อาเซียนล่มสลาย
11.พรรคมีข้อเท็จจริงว่ามีหลายประเทศได้ตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาอย่างเช่นประเทศฮอนดูรัส นิคารากัว จึงถามว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่ดำเนินการเช่นเดียวกับรัฐบาลกัมพูชาไม่ใช่เลือก ปฏิบัติเฉพาะกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
12.การที่นายกรัฐมนตรี อ้างว่า จำเป็นต้องตอบโต้สมเด็จฮุนเซน เพราะได้วิจารณ์ระบบกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้น พรรคเห็นว่าเป็นการพูดแบบแก้เกี้ยว พยายามหาเหตุผลเท่านั้น หากเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญก็ควรดำเนินการเมื่อ 1 เดือนมาแล้ว ไม่ใช่มาตอบโต้เมื่อมีการตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษา
ขณะที่ นายวิทยา บุรณะศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่าวิปฝ่ายค้านจะเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เพื่อตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาลในการเรียกทูตออกมาจากกัมพูชา เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 82 และมาตรา 190 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำให้เกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยและกัมพูชา รัฐบาลได้ใช้อภิสิทธิ์แทนประชาชน 62 ล้านคน โดยไม่ได้หารือผ่านระบบของรัฐสภาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จนทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจอยู่ใน ขณะนี้ จึงขอให้ทางวุฒิสภาใช้สิทธิ์ในการตรวจสอบและเรียกนายกรัฐมนตรี
มาชี้แจงต่อสภาใน เรื่องนี้โดยด่วน
นายวิทยากล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นเรื่องระหว่างประเทศที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ พรรคเพื่อไทยจึงต้องออกมาเคลื่อนไหวในลำดับแรกเพื่อขอใช้เสียงของวุฒิสภา 1 ใน 3 ในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งเบื้องต้นได้หารือภายในพรรคเพื่อไทย แต่ไม่มีการประสานไปยัง ส.ว. ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 9 พ.ย.นี้ วิปฝ่ายค้านจะเสนอต่อที่ประชุมสภาเพื่อขอให้มีการตรวจสอบรัฐบาลตามมาตรา 161 แน่นอน ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยกังวลหรือไม่ว่ากระแสอาจตีกลับ และถูกตั้งคำถามว่าเป็นคนไทยแต่ทำไมไปเดือดเนื้อร้อนใจแทนกัมพูชา นายวิทยานิ่งไปชั่วครู่ก่อนตอบคำถามด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวว่า เรื่องนี้คงต้องไปถามรัฐบาล เพราะเรื่องที่น่ากลัวกว่าคือการที่รัฐบาลขาดวุฒิภาวะ ไปดำเนินนโยบายต่างประเทศจนเกิดความเสียหาย
สนับสนุนเนื้อหาข่าวโดย :
http://www.thairath.co.th/content/pol/45021
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น