เพื่อการแสดงผลหน้าเว็ป SPVARIETY ที่ถูกต้องท่านควรใช้ IE8 Firefox & Google Chrome

Download Browsing Click Here

This page is optimized for IE8 Firefox & Google Chrome

ใครรู้บ้าง "14 ตุลา"คืออะไร !?

|



ถ้าลองถามนักศึกษา หรือวัยรุ่นสมัยนี้ว่า “14 ตุลา คืออะไร” ก็อาจได้รับคำตอบหลากหลายและก็ประหลาดๆ

บ้างก็ว่า คือ “การเปลี่ยนแปลงการปกครองมั้งพี่” “คืออะไรหนอ” ก่อนจะคิดนานพลางว่า “เห็นมีคนมาชุมนุมเยอะที่ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมั้ง”

บ้างก็เล่าไม่ถูก ทำท่า มึนๆ จับต้นชนปลายเอาว่า “น่าจะเป็นภาพนักศึกษาโดนแขวนคอ แล้วถูกเก้าอี้ฟาดใช่ไหมพี่ มันเกี่ยวข้องกับ คนที่มี หนวด (เช กูวารา) ไม่พี่...”

อีกคนอาจบอกว่า 14 ตุลา 2519 น่าจะเป็นเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตย หรืออาจจะเป็น 14 ตุลา 2475 ประมาณนี้ !@#@>?

อย่าเพิ่งตกใจว่า ทำไมเยาวชนไทยปัจจุบัน ถึงไม่รู้จักประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ 14 ตุลา 2516

ที่นักศึกษาขณะนั้นได้เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งยิ่งใหญ่ของ ประเทศ
เพราะสังคมแต่ละช่วง บริบทแต่ละตอน วันนั้นกับวันนี้แตกต่างกัน บรรยากาศยุคนั้น ไร้สิทธิเสรีภาพ ผู้คนตกอยู่ภายในรัฐบาลเผด็จการทหารที่สืบทอดกันมายาวนาน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาคอรัปชั่นหมักหมม ความร้อนของน้ำจากนักศึกษาและประชาชน ที่เดือดมาเรื่อยๆ จึงระเบิดออกมาเป็น 14 ตุลา 2516

ขณะนั้น พลังนักศึกษาหลายแสนคน ได้รวมตัวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จากรัฐบาลเผด็จการ “ถนอม-ณรงค์-ประภาส” เป็นผลสำเร็จ แต่ก็มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์แรกของการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทย ซึ่งต่อมากลายเป็น “ต้นแบบ” ของการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองต่อต้านการปกครองที่เผด็จการ

วันนี้แม้จะผ่านมา “37 ปี” แต่หลายคนเปรียบเทียบว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยปี 2553 ดูจะซับซ้อนมากกว่าเมื่อก่อน และสังคมไทยก็ถลำลึกกับความรุนแรงมากกว่าอดีต การชุมนุมของมวลชนเสื้อแดง ที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ ก็อาจเป็นความเหมือนบนความต่างจาก 14 ตุลา แต่อีกด้านมองว่า วิกฤตความแตกแยกวันนี้ เป็นผลของ พัฒนาการทางประชาธิปไตย ที่วันหนึ่งประเทศไทยต้องเผชิญเหมือนกับประเทศตะวันตก หากกลุ่มอำนาจต่างๆในประเทศ ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ย้อนกลับถึง ที่มาของ 14 ตุลา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ได้สรุปเหตุการณ์14 ตุลาไว้ตอนหนึ่งว่า เป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อเยาวชนคนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา และประชาชนจำนวนแสน เรียกร้องให้รัฐบาลคณาธิปไตย “ถนอม- ประภาส- ณรงค์” ปล่อยตัวนิสิต นักศึกษา และอาจารย์จำนวน 13 คนที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลจับตั้งข้อหาว่า กระทำผิดกฎหมาย มั่วสุมให้มีการชุมนุมทางการเมืองในที่สาธารณะเกินกว่า 5 คน เป็นกบฎภายในพระราชอาณาจักรและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม นักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม นิสิตนักศึกษาได้เดินขบวนสำแดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ท่วมถนนราชดำเนิน ในวันที่ 14-15 ตุลาคม ถัดมาก็เกิดความรุนแรง เยาวชนคนหนุ่มสาวถูกปราบปรามด้วยอาวุธจนทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นทั้งใน กรุงเทพและต่างจังหวัด และแล้วเผด็จการก็ล้มลง ผู้นำคณาธิปไตย “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

นับแต่นั้นมา เหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ได้รับการกล่าวขานต่างๆ นานา เช่น วันมหาวิปโยค วันมหาปิติ การปฏิวัติตุลาคม การปฏิวัติของนักศึกษา ความยิ่งใหญ่และผลกระทบของเหตุการณ์นี้ถูกนำไปเปรียบเทียบเหตุการณ์ก่อนหน้า นั้นเช่น การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 หรือเหตุการณ์หลังจากนั้นพฤษภามหาโหด 2535

ปรากฎการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มิได้อุบัติขึ้นในเวลาไม่กี่วัน แต่เป็นการสั่งสมของความกดดันทางการเมืองการปกครองไทย ที่อยู่ใต้ระบบเผด็จการมานาน และภายใต้วัฎจักรความชั่วร้ายหรือ วงจรอุบาทว์ ที่มีการยึดอำนาจปฏิวัติรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วฉีกทำลาย สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนชาวไทยพึงมีก็ถูกปฏิเสธและเหยียบย่ำมายาวนานหลายสิบ ปี อำนาจทางการเมือง แทนที่จะเป็นของประชาชน ก็ตกอยูในมือของคณาธิปไตยไม่กี่คน โดยอาศัยกลไกของรัฐและข้าราชการทหาร ตุลาการ ตำรวจ พลเรือนเป็นเครื่องมือ

ในสมัยที่บ้านเมือง ขาดสิทธิเสรีภาพ ขบวนการนักศึกษาก่อตัวอย่างช้าๆ จิตสำนึกคนรุ่นใหม่เริ่มเกิดขึ้น และมีการตั้งคำถามต่อความเป็น ปัญญาชน ของคนดังที่ วิทยากร เชียงกูล นักศึกษาคนหนึ่งในสมัยนั้น ปรารถว่า

ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมาก มาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

นิสิตนักศึกษาในทศวรรษที่ 2510 กลายเป็น เยาวชน-คนหนุ่มสาว – คนรุ่นใหม่ ที่มาพร้อกมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจไทย คนรุ่นนี้เติบโบขึ้นมาในบรรยากาศของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่การพัฒนานั้นก็นำมาซึ่งปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่างชนบทกับเมือง ระหว่างภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรม

เยาวชน-คนหนุ่มสาว – คนรุ่นใหม่ ตั้งคำถามต่อความไม่พัฒนาของการเมือง การปกครองไทยที่มีการสืบทอดอำนาจกันอยู่ในหมู่ของคณาธิปไตยจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู่จอมพลถนอม กิตติขจร และทำท่าจะสืบต่อไปยังจอมพลประภาส จารุเสถียร ยืดเยื้อกันเป็นทศวรรษ ขณะเดียวกัน เยาวชนเหล่านั้นก็ตั้งคำถามต่อระบบการเมืองของโลกยุคสมันของสงครามเย็นที่มี การแบ่งค่าย 2 ฝ่าย มีการเผชิญหน้ากันระหว่างโลกคอมมิวนิสต์กับสหรัฐอเมริกา

ปี 2515 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กลายเป็นศูนย์รวมของการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อการผูกขาดอำนาจของรัฐบาล ขณะนั้น มีการเดินขบวนประท้วงสินค้าญี่ปุ่นในปลายปี 2515 ประฌามการใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปล่าสัตว์ ณ ทุ่งใหญ่ คัดค้านการลบชื่อหรือขับไล่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน ออกในกลางปี 2516

ก่อนจะถึง 14 ตุลาคม เหตุการณ์เริ่มปะทุขึ้น เมื่อ วันที่ 6 ตุลาคม มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน จากหลากหลายอาชีพ หลายวงการ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ จากนั้น บุคคลเหล่านี้ราว 20 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถ์เลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ส่งถึงรัฐบาลถึงสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ ซึ่งบางส่วนถูกตำรวจจับด้วยข้อหา เป็นการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และมีการจับเพิ่มบางคน จนถูกเรียกขานว่าเป็น "13 ขบถรัฐธรรมนูญ"

เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นครั้งใหญ่แก่ นักศึกษาและประชาชนอย่างมาก จนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


การเดินขบวนครั้งใหญ่ จึงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ออกไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีแกนนำเป็นนักศึกษาและมีประชาชนเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก แกนนำนักศึกษาได้เข้าพบเจรจากับรัฐบาลและบางส่วนได้เข้าเฝ้า ฯ จนได้ข้อยุติเพียงพอที่จะสลายตัว แต่ทว่าด้วยอุปสรรคทางการสื่อสารและมวลชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่อาจควบคุม ดูแลได้หมด นำไปสู่การนองเลือดในเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม เมื่อเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่บริเวณหน้าพระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัวกลับทางนั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ผ่าน จึงเกิดการปะทะกันจนกลายเป็นการจลาจล ลุกลามไปยังสนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และถ.ราชดำเนิน

ในช่วงค่ำวันที่ 14 ตุลาคม วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศว่า จอมพลถนอม ได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว และมีพระบรมราชโองการโปรดแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำรัสแถลงออกโทรทัศน์ด้วยพระองค์เอง

นั่นเป็นเหตุการณ์สรุปคัดย่อ แต่ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาแม้จะเป็นชัยชนะของนักศึกษาแต่เพียง 3 ปีจากนั้น สิทธิเสรีภาพที่เบ่งบาน ก็ต้องกลับเข้าสู่เผด็จการตามเดิม เมื่อ “อำนาจเก่า” กลับมาล้างแค้น เอาคืนนักศึกษา จนเกิดกรณี 6 ตุลา 2519 สังหารโหดนักศึกษาจากกลุ่มขวา โดยกล่าวหา นักศึกษาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ นักศึกษานับพัน ต้องหนีเข้าป่านับจากนั้น

คนเดือนตุลาในอดีต วันนี้ได้เติบใหญ่ทางความคิด มีบทบาทในการเมืองและสังคมไทยในปัจจุบันอยู่มาก หลายคนมีชื่อเสียงในหลายแวดวง ทั้งนักวิชาการ นักการเมืองในทุกพรรคทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล นักธุรกิจ กระทั่งยังเป็น นักเคลื่อนไหวอยู่

มีนิยามทั้ง ตุลาฝ่ายซ้าย ตุลาฝ่ายขวา ตุลาเหลือง ตุลาแดง ตุลาสายกลาง บ้างก็ว่า คนเดือนตุลาตายหมดแล้ว ไม่มีอุดมการณ์เหลืออยู่

คนเดือนตุลา ยังได้เข้ามาเกี่ยวพันกับ วิกฤตการเมืองที่ต่อสู้กันแหลมคมกันสองปีก บางส่วนเข้าร่วมเป็นกุนซือให้กับทักษิณ ชินัวตร และเสื้อแดง กำหนดยุทธวิธีก่อม็อบ เรียกร้องประชาธิปไตย คนตุลาอีกปีกก็อยู่เบื้องหลังคอยแก้ม็อบ บ้างก็เข้าไปมีบทบาทแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างลับๆ


สำหรับ ผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลา 2516 ที่รู้จักกันในปัจจุบัน เช่น นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล วันนี้กลับมาเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (ครป.) ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน หรือ นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิพากษ์สังคมการเมืองชื่อดัง

ส่วนแกนนำศึกษาที่เคยมีบทบาท ใน “คณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2516” เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตฯ วันนี้เป็น อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และนั่งเก้าอี้ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ

นายกนก วงศ์ตระหง่าน รองเลขาธิการศูนย์นิสิตฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นที่ปรึกษานายกฯอภิสิทธิ์ สังกัด พรรคประชาธิปัตย์

นายบุญส่ง ชเลธร รองเลขาธิการศูนย์นิสิตฯ ฝ่ายสังคม วันนี้กระโดดเข้ามาเล่นการเมือง โดยลงสมัคร ส.ก. ในสังกัดเสื้อเหลืองของ พรรคการเมืองใหม่ เขตบึงกุ่ม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

นายธเนศวร์ เจริญเมือง รองเขาธิการศูนย์นิสิตฯ ฝ่ายการเมือง ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับรู้กันว่า เป็นนักวิชาการ ให้กับขบวนการเสื้อแดง ฯลฯ

ที่มา :
http://www.posttoday.com/

0 ความคิดเห็น:

search

search this site the web
search engine by freefind

ฝากไฟล์

YOUR IP