เพื่อการแสดงผลหน้าเว็ป SPVARIETY ที่ถูกต้องท่านควรใช้ IE8 Firefox & Google Chrome

Download Browsing Click Here

This page is optimized for IE8 Firefox & Google Chrome

จี้สาธารณสุขเตือนภัยไข้หวัดหมู กรมปศุสัตว์สั่งคุมหมูตายทั่วปท.

|

หมอจุฬาฯ-ศิริราช-รามาฯ แจ้งพบผู้ป่วยไข้หวัดหมูจากการติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ไทป์ II เข้ารับการรักษาทุกปี ทั้งเชื้อรุนแรง-ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนสัมผัสกับหมู ชี้โอกาสโรครุนแรงเหมือนจีน "อาจ" เกิดขึ้นได้ จี้รัฐบาลแจ้งเตือนให้ความรู้คน ด้านกรมปศุสัตว์ทำหนังสือด่วนถึงปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ ขอให้ติดตามการตายของหมูเป็นพิเศษแล้ว

การติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส หรือ Streptococcus suis ไทป์ II หรือโรคไข้หวัดหมู ที่ติดจากหมูสู่คนในมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 36 คนแล้วนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความสงสัยที่ว่ามีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง โดยนายบ็อบ ไดเอตซ์ โฆษกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับออกมาระบุว่า "อาจจะ" มีแบคทีเรีย/ไวรัสชนิดอื่นๆ หรือสารพิษบางอย่าง หรือเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่มณฑลเสฉวน ซึ่งช่วยเกื้อกูลให้เกิดการติดต่ออย่างรุนแรง

ในขณะที่ประเทศไทย แม้จะพบเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ไทป์ II ทั้งในหมูและมีรายงานทางการแพทย์ว่า ติดต่อสู่คนที่เกี่ยวข้องกับฟาร์ม-โรงฆ่า และเขียงหมู รวมไปถึงการบริโภคเนื้อหมู/เลือดหมูสดในอาหารจำพวกลาบดิบ/หลู้แล้วก็ตาม แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ในกรณีนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีการออกมาเคลื่อนไหว ทั้งการให้ความรู้หรือแจ้งเตือนคนไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ภายในประเทศ ซึ่งเกิดติดต่อกันเป็นประจำมาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่อาการของโรคไม่รุนแรงเท่ากับที่เกิดในจีน แต่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงมากโรคหนึ่ง

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การระบาดของเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ในประเทศจีนนั้น สิ่งที่กรมปศุสัตว์เป็นห่วงก็คือ ไม่รู้ว่าจีนเป็น Streptococcus suis type II หรือเปล่า เพราะเป็นการระบาดที่รุนแรง แต่ถ้าเป็น type II เป็นเรื่องที่พบเป็นปกติในสุกรไทยอยู่แล้ว ถ้าสถานที่เลี้ยงสุกรสกปรก ไม่ได้มาตรฐาน เชื้อจะมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ แต่การเกิดโรคในประเทศไทยสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะและไม่ได้เกิดการระบาด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือส่งไปยังปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศให้มีการเฝ้าระวังตรวจสอบซุ่มเก็บตัวอย่างตลอด โดยเฉพาะหากมีลูกหมูตาย นอกจากนี้ได้พยายามให้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังคนเลี้ยงหมูให้มีการป้องกันด้วย

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังเร่งปรับปรุงเรื่องมาตรฐานโรงฆ่าหมูให้เข้าสู่มาตรฐาน เพราะคนที่เสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ไทป์ II จะเป็นคนที่ฆ่าหมูและคนเลี้ยงมากกว่าคนทั่วไป แต่การปรับปรุงโรงฆ่าที่ผ่านมาก็มีปัญหา ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ยังไม่ยอมลงทุนปรับปรุง และกรมปศุสัตว์ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักเพราะกฎหมายที่กระทรวงมหาดไทยโอนอำนาจการควบคุมโรงฆ่าสัตว์มาให้ทางกรมปศุสัตว์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้น ยังคงให้อำนาจกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลโรงฆ่าสัตว์ในพื้นที่อยู่

ทางด้านนายแพทย์อนันต์ จงเถลิง หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดูแลศูนย์สเตรปโตคอกคัส (Streptococcus) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การระบาดของเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ไทป์ II ในประเทศจีนนั้น หากถามว่าประเทศไทยน่าห่วงหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่า "น่าห่วงเช่นกัน" เพราะโอกาสที่เชื้อจะเกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศไทยกับในประเทศจีนมีเท่าๆ กัน เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีใครทราบว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ สเตรปโตคอกคัส ซูอิส ไทป์ II เกิดการระบาดที่รุนแรง ทำไมจึงมีคนอ่อนแอจำนวนมากที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิต ภูมิคุ้มกันที่เปลี่ยนไป หรือภูมิคุ้มกันลดลงเกิดจากอะไร

"ผมคิดว่า ด้วยวิถีชีวิตการเลี้ยงหมูและการบริโภคหมูของคนไทยกับคนจีนไม่ได้แตกต่างกันมากนัก จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่ไม่ได้ต้องการให้คนแตกตื่นหรือหวาดกลัว อีกกรณีที่ผมกังวลก็คือ กรณีเชื้อดื้อยา ซึ่งเคยพบในคนไข้ที่โรงพยาบาลจุฬาฯมาแล้ว" นายแพทย์อนันต์กล่าว

สำหรับตัวเลขผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ไทป์ II ที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในปี 2548 จากเดือนมกราคมถึง ปัจจุบันมีประมาณ 5 ราย แม้จะไม่มาก เพราะยังไม่มีการเก็บตัวเลขรายงานที่สมบูรณ์ ดังนั้นอาจจะถึงเวลาที่ต้องมาให้ความสนใจกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหน่วยงานทางด้านเกษตรที่ดูแลเกี่ยวกับการเลี้ยงสุกรน่าจะมีการประกาศเตือนและเตรียมความพร้อมรับมือ โดยการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ ทางศูนย์สเตรปโตคอกคัสมีความกังวลว่า ในปี 2548 มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ไทป์ II จากหมู เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬา ลงกรณ์ถึง 5 ราย ถือเป็นสัญญาณไม่ดี หากเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปี 2547 มีเพียง 2 ราย ปี 2546 มี 1 ราย ปี 2544 มีประมาณ 9 ราย และปี 2543 มีประมาณ 8 ราย โดยภาวะการติดเชื้อที่พบชนิดที่รุนแรงมีประมาณ 30% ของผู้ป่วยที่มาเข้ารับ การรักษา หากดูสถิติคนไข้ที่มารับการรักษาเฉลี่ยมีทุกวัยตั้งแต่อายุ 1 เดือนถึง 75 ปี ทั้งเด็ก-คนแก่ และชายฉกรรจ์ ดังนั้นหากเฉลี่ยการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ไทป์ II ในขณะนี้ถือว่าไม่มาก

ศาสตราจารย์นายแพทย์อมร ลีลารัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันทางโรงพยาบาลยังพบผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ สเตรปโตคอกคัส ซูอิส อยู่เรื่อยๆ แต่เรียกได้ว่าเป็นการพบประปรายประมาณ 5-10 คนต่อปี หรืออาจจะมากกว่านั้น แต่เนื่องจากการเพาะเชื้อทำได้ไม่ดี ทำให้ไม่มีรายงานตัวเลขการติดเชื้อที่ชัดเจน โดยทั่วไปการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ที่พบในคนไข้ของศิริราชพยาบาลมีทั้งชนิดที่รุนแรงและไม่รุนแรง สำหรับชนิดรุนแรงเท่าที่พบเฉลี่ยมีประมาณ 20-30% ของผู้ป่วยที่มารับการรักษา โดยชนิดของเชื้อที่รุนแรงมักจะขึ้นไปที่เส้นประสาท คนไข้ส่วนใหญ่ที่หายแล้วจะหูหนวกหรือหูตึง บางรายที่มีอาการสูญเสียการทรงตัวในช่วงแรกด้วย แต่พอจะรักษาให้ดีขึ้นได้

"สถิติคนไข้ที่มารับการรักษาที่ศิริราชพยาบาลนั้น เท่าที่ตรวจสอบประวัติพบว่าส่วนใหญ่มีอาชีพชำแหละหมูขายในตลาดสดและแม่บ้านที่ทำอาหาร โดยลักษณะของการติดเชื้อเกิดจากการสัมผัส เชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่บริเวณมือและหลังมือ" ศาสตราจารย์นายแพทย์อมรกล่าว

ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สุพจน์ ตุลยาเดชานนท์ อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ทุกปีจะมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ไม่มากนัก เพราะเชื้อไม่ได้ติดกันง่ายนัก เท่าที่จำได้เคยมีมากสุดเมื่อ 2 ปีก่อนประมาณ 8 ราย ซึ่งมีทั้งที่เจอเชื้อชนิดรุนแรงและไม่รุนแรง แต่ไม่มีการเก็บตัวเลขข้อมูลที่ชัดเจนทำให้บอกสถิติไม่ได้

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหวัดหมูในมณฑลเสฉวนของจีนยังคงน่าเป็นห่วง ล่าสุดทางการจีนรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อสเตรปโตคอกคัสในจีนมีสูงถึง 206 ราย และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 38 ราย และกระทรวงเกษตรจีนได้ประกาศใช้แผนป้อง กันและควบคุมการแพร่ระบาดในทั่วประเทศแล้ว

ในวันเดียวกันนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกมาเตือนให้ทางการจีนเร่งตรวจสอบ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในหมูที่กำลังระบาดในคนอย่างรุนแรง รวมถึงหาสาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงผิดปกติ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของ WHO กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องมีการทดสอบมากกว่านี้ เพื่ออธิบายสาเหตุของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในเสฉวนและมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงจนน่าตกใจ

ขณะที่กระทรวงเกษตร ประมง และการอนุรักษ์ของฮ่องกง (AFCD) ได้เริ่มมาตรการตรวจตราอย่างใกล้ชิด โดยใช้เงื่อนไขการให้ใบอนุญาตฟาร์มหมู เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส ในฟาร์มหมูท้องถิ่น และจะมีการติดตามผลการตรวจสอบฟาร์มหมูที่ได้ทำไปแล้ว 266 แห่ง ซึ่งไม่พบว่ามีหมูตายอย่างผิดปกติ

และที่รัสเซียเองก็มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เช่นกัน โดยกระทรวงภาวะฉุกเฉินของรัสเซียได้ออกมาเปิดเผยว่าทางการรัสเซียได้สั่งกำจัดหมู 286 ตัวที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองโวลโกแกรด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดหมูที่มีการตรวจพบก่อนหน้านี้ ส่วนที่ญี่ปุ่น กระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะไม่นำเข้าเนื้อหมูจากมณฑลเสฉวน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในหมู

ข้อมูลจาก http://www.dld.go.th/pvlo_kkn/News/news/sara_010.htm

0 ความคิดเห็น:

search

search this site the web
search engine by freefind

ฝากไฟล์

YOUR IP