เพื่อการแสดงผลหน้าเว็ป SPVARIETY ที่ถูกต้องท่านควรใช้ IE8 Firefox & Google Chrome

Download Browsing Click Here

This page is optimized for IE8 Firefox & Google Chrome

เติบใหญ่อย่างยั่งยืน ธุรกิจ smes

|


ช่วงนี้ได้รับคำถามจากหลายๆ ท่าน ในประเด็นที่เกี่ยวกับการสร้างและพัฒนาให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดย่อมที่เติบโตมารวดเร็วเป็นที่รู้จักของลูกค้า และมีฐานการตลาดที่แน่นอนระดับหนึ่ง มีจำนวนมากที่กลับไม่ประสบความสำเร็จเมื่อคิดขยายกิจการ หลายกิจการล้มเหลว ผลการดำเนินงานตกต่ำ และอีกหลายกิจการแม้แต่จะถอยกลับมาอยู่ในระดับเดิมยังทำได้ยาก

ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้ประกอบการมักให้เหตุผลว่า เพราะตัวเองเริ่มต้นจากกิจการ SMEs ความสามารถไม่เพียงพอ และไม่มีความพร้อมสำหรับการเติบโต

กิจการเหล่านี้แม้จะมีศักยภาพในการเติบโต แต่น่าเสียดายที่ต้องมาแคระแกร็น ไม่ต่างจากถูก“บอนไซ” ไม่ตายแต่ก็ไม่โตไปกว่านั้น

ข้อเขียนชิ้นนี้จึงต้องการนำเสนอเทคนิคที่น่าสนใจที่จะทำให้ธุรกิจ SMEs สร้างการเติบโตได้ยั่งยืน

ผู้ประกอบการหลายราย มักออกตัวว่าเป็นแค่ธุรกิจเล็กๆ จึงไม่สามารถเติบใหญ่เป็นบริษัทระดับชาติ และทรัพยากรทั้งทางด้านการเงินและบุคลากรก็ไม่ได้มีมากพอ ขอแค่เลี้ยงตนเองได้ก็เพียงพอ ทั้งที่ในความเป็นจริงใช่ว่าเป็นเอสเอ็มอีแล้วจะไม่สามารถเติบโตได้ ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนตัวของผู้ประกอบการมากกว่า เพราะไม่ว่าบริษัทใดต่างก็มีจุดเริ่มต้นจากเอสเอ็มอีก่อนทั้งสิ้น

ปรับกระบวนคิด ...เอสเอ็มอีจะเติบโตได้สิ่งแรกที่ต้องทำคือปรับทัศนคติและกระบวนการคิดของ "เจ้าของ" ซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของความสำเร็จ

ความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เกิดจากทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและความเสียสละทุ่มเทของ "เจ้าของ" ซึ่งมักมีทัศนคติต่อกิจการของตนเสมือน "ลูก" เลยทีเดียว จึงต้องควบคุมดูแลในทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด

ในหลายกรณีพบว่าผู้ประกอบการรู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นผู้ดูแลกิจการตลอดเวลาไม่ให้คลาดสายตาแม้สักวันเดียว มิฉะนั้นธุรกิจอาจประสบปัญหาจนถึงขั้นล้มเหลว

ทัศนคติแบบนี้ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงเมื่อกิจการขยายมากขึ้น เมื่อถึงเวลาหนึ่ง "เถ้าแก่" ต้องยอมรับในธรรมชาติของการจัดการ เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่ที่มีคนจำนวนมากและปริมาณธุรกิจสูง ย่อมต้องการเทคนิคการจัดการที่แตกต่างจากองค์กรขนาดเล็กที่มีคนงานไม่กี่คน

ดังนั้นเมื่อกิจการขยายตัว ผู้ประกอบการต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและยอมรับปรับเปลี่ยนรูปแบบและบทบาทของตัวเอง เพราะเมื่อธุรกิจเติบโตเราย่อมไม่สามารถควบคุมดูแลและตัดสินใจทุกอย่างได้ด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดสถานการณ์ “คอขวด” ทุกอย่างจะต้องรอการพิจารณาอนุมัติจากตนเพียงคนเดียว ทำให้การดำเนินงานล่าช้า ขาดความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นการทำลายจุดเด่นของธุรกิจขนาดย่อมไปโดยอัตโนมัติ

ผู้ประกอบการจึงต้อง "เปลี่ยนโลกทัศน์" โดยคิดเสมือนว่า “ตนเองเป็นผู้บริหารของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง” แทนที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดย่อม

นอกจากนั้นยังต้องพยายามลด “อีโก้” หรือความยึดมั่นถือมั่นของตนเองลง เพราะอีโก้ที่สูงเกินไปจะทำให้มองไม่เห็นความสามารถและศักยภาพของผู้อื่น

การลดอีโก้ยังทำให้มองเห็นความสำคัญของผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้น และจะเกิดการกระจายอำนาจไปยังผู้บริหารที่อยู่ในลำดับถัดไป ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละคน สิ่งที่ต้องทำคือพัฒนาระบบสื่อสาร และการประเมินผล เพื่อใช้ติดตามการกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ

เช่นการใช้ระบบงบประมาณ ระบบตัวชี้วัด ระบบประเมินผลบุคลากรและการจูงใจ

วิธีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการลดภาระประจำวันของตัวเองลง และมีเวลาเพื่อคิด วิเคราะห์ หาโอกาสและวางแผนการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

หลังจากปรับทัศนคติก็จะเจ้าสู่ขั้นตอนที่สองคือ จัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อการขยายตัวของธุรกิจ ซึ่งทรัพยากรที่สำคัญที่สุดก็คือบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะด้าน เช่น ด้านเทคนิคการผลิต ด้านการตลาดและขาย ด้านไอที ฯลฯ รวมทั้ง "มืออาชีพด้านการเงิน"

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักละเลยที่จะหาผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน คิดแค่ว่าจ้างสำนักงานบัญชีมาทำงบการเงินเพื่อการเสียภาษีเท่านั้นเป็นพอ และหน้าที่ของฝ่ายการเงินก็ทำแค่รับจ่ายเงินสดให้ถูกต้อง ไม่คดโกงก็มากพอแล้ว หลายธุรกิจใช้ญาติที่ไว้ใจมาดูแลด้านการเงินโดยที่ไม่มีทักษะด้านการวิเคราะห์และประเมินผลทางการเงินเพียงพอ ทำให้กิจการ "เสียโอกาส" ที่จะใช้ข้อมูลทางการเงินเพื่อส่งสัญญาณการบริหารงาน

เช่น การพยากรณ์ทางการเงิน การวิเคราะห์กระแสเงินสด และสภาพคล่อง การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงิน การประเมินต้นทุน/กำไร การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน

การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรเพื่อการเติบโต ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงการสร้างความน่าเชื่อถือของกิจการ ด้วยการจัดรูปแบบหน้าตาและการตกแต่งออฟฟิศให้เหมาะสม โดยข้อมูลการวิจัยหลายสำนักระบุว่า ความประทับใจและความรู้สึกที่ลูกค้าและคู่ค้าที่เข้ามาสัมผัสบรรยากาศในออฟฟิศสามารถสร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจในกิจการได้

มีหลายครั้งที่ลูกค้าและผู้ที่มาสัมภาษณ์งาน เมื่อมาถึงที่ตั้งของออฟฟิศแล้ว เห็นสภาพไม่น่าอภิรมย์เท่าไร ก็เดินหนีออกไปก่อนที่จะได้มีการติดต่อพูดคุย ทำให้กิจการสูญเสียโอกาสทั้งยอดขายและบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาทำงาน

แนวทางสุดท้ายใช้เมื่อกิจการขยายตัวและเติบโตรวดเร็วจนรู้สึกว่ายากที่จะจัดหาทรัพยากรมาผลักดันให้เติบโตได้อีก

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ประกอบการรู้สึกว่าถ้าจะเพิ่มรายได้จากตลาดใหม่หรือจากสินค้า/บริการใหม่ๆ มีทางเดียวที่ทำได้คือต้อง “โคลนนิ่ง” ตนเองหรือพนักงานที่มีอยู่ เมื่อนั้นแสดงว่าการใช้ทรัพยากรเริ่มถึงจุดอิ่มตัว

ทางออกในสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ ต้อง "หยิบยืม" ทรัพยากรของกิจการอื่นมาใช้ โดยผ่านการเป็นพันธมิตรธุรกิจ ใช้โรงงานเครื่องจักรในการผลิตร่วมกัน ใช้เซลส์แมนหรือช่องทางการตลาดร่วมกัน หรือแม้แต่การจ้างกิจการภายนอกผลิตหรือทำเอาท์ซอร์ส ก็เป็นอีกทางหนึ่ง โดยไม่ต้องลงทุนสร้างทรัพย์สินด้วยตนเอง

ในบางกรณีกิจการอาจมีการทำเอาท์ซอร์สเพื่อเป็นการทดสอบตลาดในสินค้านั้นๆ และดูความเป็นไปได้ในการเติบโต ก่อนจะไปลงทุนเองตั้งแต่ต้น

เทคนิคต่างๆ ที่กล่าวมานี้ หวังว่าจะช่วยให้ธุรกิจขนาดย่อม สามารถเติบใหญ่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคตครับ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ Biz week ผศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องหุ้น เงิน น่ารู้ http://learningforex-non.blogspot.com/2008/06/forex-learn-trading-article.html

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณนะครับ

search

search this site the web
search engine by freefind

ฝากไฟล์

YOUR IP